กายานุปัสสนาสติปัฎฐาน-นั่ง

นั่ง

การนั่งกำหนด

 

การนั่งกำหนด ๒ ระยะ และวิธีปฏิบัติ 

คำบริกรรม ๑ พองหนอ, ๒ ยุบหนอ 

นักปฏิบัติจงเลือกนั่งสมาธิในท่าที่ตนเองถนัด ( เรียงขา ขาทับกัน ขัดสมาธิเพชร ) จากนั้นให้วางมือซ้อนกันนิ้วหัวแม่มือจะชิดกันก็ได้ ยืดกายให้ตั้งตรง อย่ายืดมากจนรู้สึกว่าเกรงพยายามให้ผ่อนคลาย หลับตาลงเบาๆจากนั้นให้กำหนดรู้อาการพอง – ยุบ บริกรรมในใจว่า พองหนอ สติต้องตามระลึกรู้อาการตั้งแต่ท้องเริ่มพอง ขณะอาการพองตั้งอยู่ ขณะที่พองหายไป ยุบหนอก็ให้กำหนดตั้งแต่เริ่มยุบ ขณะอาการยุบตั้งอยู่ และยุบหายไป คำบริกรรมและอาการพอง – ยุบต้องตรงกันอย่างสอดคล้อง ไม่ใช่พอง – ยุบหายไปแล้วจึงค่อยบริกรรมตามหลัง หรือพอง –ยุบยังไม่ปรากฏก็บริกรรมไปก่อนเสียแล้ว ส่วนหนอนั้นบริกรรมต่อท้ายเมื่ออาการนั้นๆสิ้นสุดลงพร้อมกัน หมายเหตุ สำหรับนักปฏิบัติที่กำหนดอาการพองยุบได้ยากแนะนำให้กำหนด อาการนั่งหนอ อาการถูกหนอ ซึ่งจัดเป็นการนั่งกำหนด ๒ ระยะเช่นกัน 

 

การนั่ง ๓ ระยะ และวิธีปฏิบัติ 

คำบริกรรม ๑ พองหนอ, ๒ ยุบหนอ, ๓ นั่งหนอ 

นักปฏิบัติที่สามารถกำหนดอาการพอง – ยุบ ๒ ระยะได้ชัดเจนแล้ว และมีสภาวะที่อื้อต่อการเพิ่มระยะของการนั่ง เช่นขณะที่กำหนดอาการยุบหนอนั้นอาการพองค่อยๆ ปรากฏขึ้นมาอย่างช้าๆ จนทำให้เกิดช่องว่างหรือมีที่ห่างพอจะใส่คำกำหนดว่า “นั่งหนอ”ได้ การใส่คำบริกรรม นั่งหนอ ต้องกำหนดให้เร็วขึ้นนิดหน่อยก่อนที่อาการพองจะปรากฏขึ้นมา ถ้าอาการพองปรากฏขึ้นมาแล้วจะใส่คำบริกรรมว่านั่งหนอไม่ได้ 

ข้อควรระวัง 

บางท่านไม่เข้าใจก็ไปบังคับไม่ให้ท้องพอง ซึ่งเป็นการฝืนสภาวะความเป็นจริงจะทำให้รู้สึกแน่นอึดอัด หายใจลำบากและเหนื่อยมาก จริงๆ แล้วเมื่อสภาวะของสมาธิถึงแล้วจะมีช่องว่างพอเพียงที่จะใส่คำบริกรรมได้ การกำหนดอาการนั่งหนอให้กำหนดเพียงรู้อาการนั่งเท่านั้น ( อาการของกายท่อนล่างคู้งอ กายท่อนบนตั้งตรง ) ความรู้สึกตัวว่านั่งอยู่ชั่วแวบเดียว ไม่ต้องถูกที่ใดๆ เลย 

 

การนั่งกำหนด ๔ ระยะ และวิธีปฏิบัติ 

คำบริกรรม ๑ พองหนอ, ๒ ยุบหนอ, ๓ นั่งหนอ, ถูกหนอ 

นักปฏิบัติที่ผ่านการกำหนดพอง -ยุบ 3 ระยะมาแล้ว ถ้าช่องว่างหรือยังมีที่ห่างมากพอที่จะเติมคำบริกรรมว่าถูกหนอได้อีก ก่อนที่อาการพองจะปรากฏขึ้นมาก็ให้เพิ่มคำบริกรรมนี้เข้าไปจะได้พอดีกัน การกำหนด ถูกหนอ ให้กำหนดอาการถูกหนอที่ ก้นย้อยทางขวา โดยให้กำหนดรู้เพียงอาการถูกต้องสัมผัสเพียงด้านเดียวก่อน เพราะถ้ากำหนดทั้งสองด้านอาจจะทำให้สับสนหรือเกิดอาการมึนงงได้ เมื่อมีสภาวะที่เกื้อกูลและเหมาะสมแล้ว จึงจะให้การกำหนดย้ายถูกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งวิปัสสนาจารย์จะเป็นผู้แนะนำวิธีกำหนดแก่นักปฏิบัติเอง 

 

 

 

ก. หลักการปฏิบัติ 

นิสีทะติ ปัลลังกัง อาภุชิตวา อุชุง กายัง ปะณิธายะ, ปะริมุขัง สะติง อุปัฏฐะเปตวา. 

นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ตั้งสติเข้าสู่อารมณ์ (กรรมฐาน) เฉพาะหน้า 

 

ข. วิธีปฏิบัติ 

๑. นั่งขัดสมาธิ ตั้งกายให้ตรง คอตรง 

๒. ต้องมีสติระลึกรู้อาการ เคลื่อนไหวของท้องพอง-ยุบ 

๓. จิตใจจดจ่อและแนบชิดที่อาการขึ้นๆ ลงๆ ของท้องพอง-ยุบ 

๔. วางจิตกำหนดที่ตรงสะดือขณะที่กำหนดควรหลับตา 

๕. ใช้จิตเพียรดูอาการเคลื่อนไหวบริเวณท้อง 

๖. ขณะที่ท้องพองขึ้นกำหนด บริกรรมในใจ ว่า “พองหนอ” 

๗. ขณะที่ท้องแฟบลงกำหนด บริกรรมในใจ ว่า “ยุบหนอ” 

๘. จิตที่รู้อาการพอง-ยุบ กับคำบริกรรม และสติที่ระลึกรู้ควรให้พร้อมกัน 

 

ค. สิ่งที่พึงเว้นขณะนั่งกำหนด 

๑. ไม่นั่งตัวงอ เอนเอียง หรือก้มศีรษะ (เว้นแต่มีสภาพร่างกายเป็นเช่นนั้น) 

๒. ไม่เปล่งเสียงหรือบ่นพึมพำในขณะกำหนดอาการพอง-ยุบ 

๓. ไม่ควรลืมตาเพื่อสอดส่ายหาอารมณ์ภายนอก 

๔. ไม่ควรพยายามเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยจนเกินไป 

๕. ไม่ควรนั่งพิงเก้าอี้ พนักพิง เสา (ยกเว้นแก้สภาวะ) สรุปกา

๖. ไม่ควรนำคำบริกรรมที่ไม่ตรงตามสภาวธรรมที่เป็นจริงมาใช้ เช่นในขณะที่ปวด บริกรรมว่า ไม่ปวดหนอ ๆ เป็นต้น 

๗. ไม่ควรบังคับลมหายใจเข้า-ออก เพื่อหวังจะกำหนดอาการพอง-ยุบ พยายามกำหนดให้ใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด 

 

ง. นักปฏิบัติที่กำหนดอาการพอง-ยุบได้ยากควรกระทำ ดังนี้ 

๑. ใช้ฝ่ามือแตะที่หน้าท้องตรงบริเวณสะดือเพียงเบา ๆ 

๒. รู้อาการเคลื่อนไหวของท้องขณะที่มีอาการพองดันมือขึ้น บริกรรมในใจว่า “พองหนอ” 

๓. ขณะอาการดังกล่าวละจากฝ่ามือของเราไปพึงตั้งสติกำหนดว่า “ยุบหนอ” 

๔. กำหนดรู้อาการนั่งหนอ ถูกหนอ แทนอาการพอง-ยุบหรือบริกรรมในใจเพียงรู้อาการนั่งก็ได้ (สำหรับผู้เคยทำอานาปานฯมาก่อนแนะนำให้ใช้วิธีนี้)

๕. กำหนดรู้อาการถูกตรงก้นย้อยขวาสัมผัสพื้น โดยบริกรรมว่า “ถูกหนอ” 

๖.สำหรับบางท่านขณะกำหนดอาการพอง-ยุบ มักจะใส่หนอไม่ทันก็ไม่ต้องเป็นกังวล เพียรพยายามกำหนดรู้ตามอาการนั้นๆ เมื่อวิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา แก่กล้าขึ้น จะสามารถใส่หนอได้เอง 

๗. พยายามคลายเครื่องนุ่งห่มให้หลวม อาจช่วยให้การกำหนดพอง-ยุบได้ง่าย 

๘. นอนหงายวางมือขวามือซ้ายซ้อนกันบนหน้าท้อง จากนั้นเฝ้าดูอาการพอง-ยุบอย่างมีสติ 

การกำหนดดังกล่าว เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทางร่างกาย อนุโลมลงได้ในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การมีสติตามระลึกรู้กายในกาย โดยพระพุทธองค์ตรัสไว้ในคัมภีร์มหาสติปัฎฐานสูตร หมวดอิริยาบถว่า

 

ยะถา ยะถา วา ปะนัสสะ กาโยปะณิหิโต โหติ, ตะถา ตะถา นัง ปะชานาติ กายของ (ภิกษุ/โยคี) ดำรงอยู่โดยอาการใดๆ ก็กำหนดรู้กายนั้นโดยอาการนั้นๆ (ที.มหา ๑๐/๑๐/๓๗๕/๒๔๙)

 

การกำหนดอาการพอง-ยุบ จัดเป็นอาการที่ปรากฏในส่วนแห่งร่างกาย พร้อมกันนี้การกำหนดพอง-ยุบ ยังเป็นการกำหนดวาโยโผฏฐัพพะรูป ซึ่งอาจจะกล่าวโดยอนุโลมได้ว่าเป็นการกำหนดอานาปานโดยอ้อมเช่นเดียวกัน อีกนัยหนึ่งการกำหนดรู้อาการพอง-ยุบ เป็นการกำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวของธาตุลม (กุจฉิสยวาโย ลมในท้อง) พอง – ยุบ เป็นรูป จิตที่กำหนดรู้เป็นนาม ซึ่งจัดว่าเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐานด้วยเช่นกัน 

 

 

ความหมายของการกำหนดรู้ 

การกำหนด หมายถึง การเอาจิตเข้าไปจดจ่อเฝ้าดูสภาวธรรมอันปรากฏขึ้นตามความเป็นจริง ด้วยวิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา โดยปราศจากการคิดนึกพิจารณาปรุงแต่ง หรือเพิ่มเติมสิ่งใดๆ ลงไปในทุกๆ ขณะที่มีการกำหนด ขณะที่นักปฏิบัติกำหนดอาการพอง - ยุบ อาจมีอารมณ์แทรกปรากฏขึ้นชัดเจนกว่า ควรละการกำหนดอาการพอง - ยุบ ชั่วคราว จากนั้นตั้งใจกำหนดอารมณ์ที่แทรกเข้ามานั้น จนกระทั่งดับไป เสื่อมไป หรือไม่ชัดเจนแล้วจึงค่อยกลับมากำหนอาการพอง - ยุบ ต่อไป เมื่อครบตามกำหนดเวลาที่ตั้งใจจะนั่ง เช่น 5,10,20,30,45,60 นาที จึงกำหนดเปลี่ยนอิริยาบถไปเดินจงกรม เพื่อปรับแต่งอิริยาบถและอินทรีย์ 5 ให้มีความสม่ำเสมอกัน