กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน-นอน

นอน

การนอนกำหนด

 

ก. หลักการปฏิบัติ 

สะยาโน วา สะยาโนมหีติ ปะชานาติ. 

นอนอยู่ก็กำหนดรู้ว่า ข้าพเจ้านอนอยู่

 

ข. วิธีการปฏิบัติ 

๑.มีสติสัมปชัญญะกำหนดรู้ในอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย 

๒. ขณะเอนกายลง เพื่อจะนอนพึงกำหนดว่า “เอนหนอ ๆ ๆ” 

๓. ขณะที่ข้อศอก ตะโพก แผ่นหลัง ศีรษะหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสพื้น พึงกำหนดทันทีว่า “ถูกหนอๆ ๆ” 

๔. ขณะที่นอนแบบตะแคงขวาหรือหงายขนานราบกับพื้นพึงกำหนดไว้ในใจว่า “นอนหนอๆ” 

๕. เมื่อนอนลงไปเรียบร้อยแล้ว พึงหลับตาและเริ่มกำหนดคือเอาจิตไปจดจ่อที่อาการเคลื่อนไหว ขึ้นลงของท้องขณะท้องพองขึ้น กำหนด ว่า “พองหนอ ๆ ๆ” ขณะใดท้องแฟบลงกำหนดว่า “ยุบหนอ” ขณะใดท้องพองขึ้นก็กำหนดว่า “พองหนอ” หรือกำหนด นอนหนอ ถูกหนอ ตามควรแก่สภาวะ หรือระยะนั้นๆ จนกระทั่งหลับไปอย่างมีสติ เมื่อรู้สึกตัวตื่นขึ้น จึงเริ่มต้นการกำหนดอย่างต่อเนื่องต่อไป

 

ค.สิ่งที่พึงเว้นขณะกำหนดอาการนอน 

๑.นอนลืมตาหรือพยายามใช้จิตเพื่อเพ่งดูสัณฐานบัญญัติ 

๒. คอยจดจ้องดูว่าจะหลับขณะที่พองหรือยุบ (จะทำให้กังวลมาก) 

๓. พลิกหรือขยับตัวไปๆ มาๆ บ่อยมากเกินไป 

๔. บังคับลมหายใจเข้าเพื่อกำหนดพอง บังคับลมหายใจออกเพื่อกำหนดยุบ เพราะอาจเกิดอาการเหนื่อยหอบได้ หรืออาจเป็นสาเหตุทำให้นอนไม่หลับ เกิดอาการอ่อนเพลียและเป็นอุปสรรคแก่การกำหนดในวันต่อไป