กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน-เดิน

 

เดิน

  

การเดินจงกรม

ความหมาย การเดินจงกรมไม่ใช่การเดินชมธรรมชาติหรือเดินเพื่อการผ่อนคลายร่างกายหรือจิตใจ แต่การเดินจงกรมหมายถึง การเดินไปและเดินกลับอย่างมีสติ เพื่อปรับแต่งอิริยาบถฯ และอินทรีย์ให้มีความเสมอกัน 

 

ก. หลักการปฏิบัติ 

คัจฉันโต วา คัจฉามีติ ปะชานาติ. 

เดินอยู่ก็กำหนดรู้ว่า ข้าพเจ้าเดินอยู่ 

 

ข. วิธีปฏิบัติ 

๑. สายตาเตรียมไว้มองไกลประมาณ ๒ - ๓ เมตร 

๒. จิตจดจ่ออยู่ที่อาการเคลื่อนไหวของเท้าสติกำหนดรู้ 

๓. คำบริกรรมในใจกับอาการเคลื่อนไหวต้องไปพร้อมกัน 

๔. ขณะที่เดินอยู่ ถ้ามีสภาวธรรมอย่างอื่นที่ชัดเจนมากกว่าแทรกเข้ามา ควรหยุดกำหนดอาการเดินชั่วคราว จากนั้นตั้งใจกำหนดอารมณ์ที่แทรกเข้ามานั้น จนกระทั่งดับไป เสื่อมไป หรือไม่ชัดเจนแล้วจึงค่อยกลับมากำหนดอาการเดิน ต่อไป 

๕. เดินช้า ๆ แต่อย่าบังคับมาก จิตใจจดจ่อ มีสติกำหนดรู้อย่างต่อเนื่อง 

 

ค.สิ่งที่ควรจะงดเว้นขณะเดินจงกรม 

๑. ไม่นิยมหลับตา หรือสอดส่ายสายตาเพื่อหาอารมณ์ 

๒. ไม่ควรก้มมากเกินไป หรือจดจ้องจนปวดต้นคอ 

๓. ไม่เชิดหน้า หรือเดินแกว่งแขน 

๔. ไม่เกร็งเท้าหรือขาจนเกินไปในขณะเดิน 

๕. ไม่บริกรรมสิ่งอื่นๆ ที่ไม่ตรงกับสภาวะของการเดิน 

๖. ไม่เพ่งสัณฐานบัญญัติของเท้า หรือกำหนดพอง-ยุบ 

 

ง. ข้อยกเว้นบางกรณี 

๑. เดินเร็ว ๆ เพื่อแก้ความง่วง 

๒. เดินช้ามาก ๆ เพื่อให้จิตเป็นสมาธิและเห็นการเกิดดับชัดเจน 

๓. ออกเสียงหรือบริกรรมด้วยวาจา เป็นการฝึกให้รู้วิธีปฏิบัติเท่านั้น 

๔. เดินมองธรรมชาติเพื่อแก้สภาวะบางอย่าง 

๕. ทำกายบริหารเพื่อการผ่อนคลายเป็นบางครั้ง

 

วิธีเดินจงกรมระยะที่ ๑ ( ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ )

 

ให้กำหนดรู้อาการยืนก่อน ๓ ครั้ง ตามองไปไกลประมาณ ๒ เมตร ลำตัวตั้งตรง คอตรง ลืมตาเพียงครึ่งเดียว มือไขว้หลังจากนั้นเอาสติไปจับที่เท้าซ้าย หรือขวาก็ได้แล้วแต่ความถนัด ขณะบริกรรมในใจว่า ขวา จิตจะจดจ่อที่เท้าขวา เข่างอนิดหน่อยอยู่ในท่าเตรียมพร้อมที่จะเดิน ไม่นิยมยกเท้า เพราะจะไปซ้ำกับระยะต่อไป ขณะบริกรรมในใจว่า ย่าง เท้าต้องเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ขาและเข่าตรง ขณะบริกรรมในใจว่า หนอ เท้าต้องหยุดการเคลื่อนที่โดยทันที ขณะที่เท้าเคลื่อนที่ไปข้างหน้าน้ำหนักตัวจะถูกถ่ายเทไปยังเท้าอีกข้างหนึ่งซึ่งอยู่ตรงกันข้าม เช่น ขวาย่างหนอ การรับน้ำหนักจะอยู่ที่เท้าด้านซ้าย ในขณะที่เท้าซ้ายเคลื่อนไป น้ำหนักจะอยู่ที่เท้าด้านขวา ส่วนของการเดินในระยะต่อ ๆ ไป การถ่ายเทน้ำหนักตัวก็มีลักษณะเหมือนกัน 

 

ในทีนี้นักปฏิบัติไม่ต้องแยกคำบริกรรมเป็น ๓ ช่วง เช่น ขวา, ย่าง, หนอ เพราะจะทำให้ไปซ้ำกับการเดินในระยะที่ ๓ คำบริกรรมต้องเนื่องกันไป จนการเคลื่อนที่ไปของเท้าสิ้นสุดลง การเดินในระยะนี้จะเกิดการผ่อนคลายได้ดี และใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด อย่าพยายามบังคับให้ช้าหรือเร็วจนเกินไป เพราะจะทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ เกร็ง ตึง และเครียดมากจนเกินไป การเดินในระยะนี้จะไม่ช้ามากนัก เพราะเป็นการกำหนดรู้เพียงอาการเคลื่อนไหวของเท้าเท่านั้น ถ้าบังคับมากจนเกินไป อาจจะไม่ส่งผลดีแก่นักปฏิบัติเท่าที่ควร 

 

การเดินในระยะนี้จะมีความรู้สึกผ่อนคลายค่อนข้างมาก ถ้าเดินแล้วเครียดหรือรู้สึกกดดันมากควรจะพิจารณา หรือเฝ้าสังเกตดูให้ดีว่าเกิดจากสาเหตุใด เช่น จ้องมากเกินไป เพ่งมากเกินไป บังคับการเดินให้ช้าเกินสภาพความเป็นจริง เพื่อสนองความต้องการของตน หรืออยากให้ได้ให้เป็นตามที่วิปัสสนาจารย์แนะนำมากเกินไป ซึ่งในความเป็นจริงแล้วมันไม่สอดคล้องกับสภาพความจริงที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า ประเด็นเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดความเครียดหรือกดดัน เมื่อทราบแล้วค่อยๆ แก้ไข ผ่อนคลายความรู้สึกเหล่านั้น พยายามกำหนดให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติของแต่ละบุคคล จะทำให้การปฏิบัติของท่านก้าวหน้าและดียิ่งขึ้น การเดินในจังหวะที่ ๑ อาจใช้เวลานานหลายวัน ไม่ใช่เพียงวันเดียวอย่างที่บางท่านเข้าใจ การขึ้นหรือเพิ่มระยะใหม่จริงๆแล้วต้องคำนึงถึงสภาวะญาณที่หยั่งรู้รูปนามตามความเป็นจริงคือ สามารถแยกรูป–นามออกจากกันได้ (นามรูปปริเฉทญาณ) อย่างชัดแจ้ง จึงจะเพิ่มระยะของการเดินและการกำหนดให้ เพื่อต้องการให้นักปฏิบัติเข้าใจในวิธีปฏิบัติจากนั้นก็นำไปปฏิบัติกันเอง โดยพยายามบ่มเพาะสติปัญญากันไปเรื่อยๆ บ่อยๆ ซ้ำๆ ต่อเนื่องจนกระทั่งเกิดญาณหยั่งรู้ด้วยตนเองอย่างชัดแจ้ง จึงค่อยเพิ่มระยะในการเดินต่อไป เพื่อมิให้เกิดข้อผิดพลาดวิปัสสนาจารย์จะต้องตรวจสอบด้วยการซักถามอย่างละเอียด และนักปฏิบัติก็ต้องตอบตามความเป็นจริงในขณะปฏิบัติ ห้ามจำจากหนังสือหรือจากผู้อื่นมาตอบ ถ้าเป็นเช่นนี้ชื่อว่าไม่รักษาประโยชน์ตน โอกาสในการบรรลุธรรมของท่านก็จะน้อยลงไป ใส่ใจสักนิด อย่าทำผิดด้วยการโกหกตนเอง

 

 วิธีเดินจงกรมระยะที่ ๒ ( ยกหนอ เหยียบหนอ )

 

เมื่อกำหนดอาการยืน และต้นจิต คือ อยากเดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว เอาจิตไปกำหนดอาการยกของเท้าซ้ายหรือขวาก็ได้ ในขณะที่เท้ายกขึ้นกำหนดว่า “ยกหนอ” การกำหนดหนอนั้นให้พร้อมกับการสิ้นสุดลงของการยก ข้อสำคัญไม่ควรที่จะยกเท้าสูงจนกระทั่งเลยข้อเท้าขึ้นไป หรือก้าวเท้ายาวจนเกินไป ขณะปล่อยเท้าลงวางแนบกับพื้นกำหนดว่า “เหยียบหนอ” พร้อมกับการสิ้นสุดของการเหยียบ การเดินในระยะที่ ๒ นี้ จุดสำคัญที่ต้องเอาใจใส่อยู่ที่อาการเคลื่อนไหวของการยกและเหยียบ ถึงแม้จะมีความรู้สึกขณะวางเท้าลงเหมือนมีการเคลื่อนตัวไปข้างหน้านิดหน่อย แต่นักปฏิบัติไม่ต้องเอาใจใส่ ให้มนสิการแต่เพียงอาการยกและเหยียบเท่านั้น 

 

การเดินจงกรมในจังหวะนี้บางท่านมีความรู้สึกว่าอึดอัด ไม่เป็นธรรมชาติวิปัสสนาจารย์บางท่าน จึงแนะนำให้นักปฏิบัติผ่านไปเดินในจังหวะที่ ๓ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ถ้าใส่ใจอย่างระมัดระวัง และแยบคาย ( โยนิโสมนสิการ ) สักหน่อย ท่านจะค้นพบธรรมชาติอย่างวิเศษของการเดินในระยะนี้ เพราะมีความถี่มาก มีลักษณะของการยืดหยุ่น และผ่อนคลายในขณะยก – เหยียบ ส่วนระยะเวลาของการเดิน ไม่แน่นอนถ้าถือตามหลักเกณฑ์จริง ๆ โยคีจะต้องเกิดญาณหยั่งรู้เหตุปัจจัยของรูป – นาม ( ปัจจยปริคคหญาณ ) อย่างชัดแจ้งเสียก่อน จึงจะเพิ่มจังหวะของการเดินให้ การเดินจงกรมจังหวะนี้ มีสิ่งที่เพิ่มเข้ามาก็คือ การกำหนดรู้ต้นจิต คือคำว่า “อยาก” ในที่นี้มิได้หมายถึงอยากชนิดเป็นตัณหา แต่หมายเอาเจตนาความตั้งใจที่เป็นกุศลในขณะเจริญสติปัฏฐาน ๔ ซึ่งเป็นการบำเพ็ญเพียร เพื่อละอุปาทานขันธ์ ๕ ส่วนใหญ่นิยมกำหนดก่อนจะเดิน ๓ ครั้ง ตัวอย่างเช่น อยากเดินหนอ ๆ จากนั้นจึงเดินจงกรมต่อไป

 

วิธีเดินจงกรมระยะที่ ๓ 

คำบริกรรม: ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ

 

วิธีปฏิบัติ เมื่อนักปฏิบัติกำหนดรู้อาการยืนสิ้นสุดลง ให้เอาสติไปจดจ่อที่อาการยกขึ้นของเท้าพร้อมกับกำหนดว่า “ยกหนอ” ลักษณะของการยกเท้าเข่าจะงอเล็กน้อย ส้นเท้าปลายเท้าจะยกขึ้นพร้อมๆ กัน แต่ไม่สูงจนเลยข้อเท้า จากนั้นให้เคลื่อนเท้าไปข้างหน้าอย่างช้าๆ และกำหนดว่า “ย่างหนอ” การเคลื่อนไปของเท้านั้นไม่ควรยาวจนเกินไป เพราะจะทำให้การทรงตัวไม่ดี ความห่างระหว่างเท้าไม่มากกว่าหนึ่งฝ่าเท้า เพราะถ้าชิดกันเกินไปจะทำให้เกิดอาการซวนเซได้ และน้ำหนักตัวจะไม่สม่ำเสมอกัน เมื่อสิ้นสุดการก้าวย่างแล้วให้วางเท้าลงแนบชิดกับพื้นอย่างช้าๆ พร้อมกับการกำหนดรู้ด้วยสติว่า “เหยียบหนอ” หนอนั้นให้กำหนดพร้อมกับการสิ้นสุดของการเหยียบ ไม่ก่อนหรือหลัง นักปฏิบัติที่กำหนดเดินจงกรมจังหวะนี้จะมีความประจักษ์แจ้งอยู่อย่างหนึ่งว่า รูป-นามที่ตนเองกำหนดอยู่นี้ มีลักษณะไม่เที่ยง (อนิจจตา) มีลักษณะบ่งชี้อย่างชัดเจนว่าเป็นทุกข์ (ทุกขตา) ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ หรือทนยากอันเนื่องมาจากสภาพที่ถูกบีบคั้นจากเหตุปัจจัยทั้งภายในและภายนอก เป็นต้น ลักษณะอีกอย่างหนึ่งที่ส่อแสดงให้รู้ด้วยปัญญาอย่างแท้จริงว่า ไม่ใช่ตัวตัวตน (อนตฺตตา) บังคับบัญชาไม่ได้ การเดินจงกรมในระยะที่ ๓ นี้ นักปฏิบัติจะได้ตระหนักรู้สภาวลักษณะดังกล่าว

 

 

 วิธีเดินจงกรมระยะที่ ๔ 

คำบริกรรม : ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ

 

วิธีปฏิบัติ เมื่อนักปฏิบัติกำหนดรู้อาการยืน และกำหนดรู้ต้นจิตว่า “อยากเดินหนอ” ๓ ครั้งแล้ว จากนั้นก็เอาใจใส่อาการยกส้น โดยกำหนดว่า “ยกส้นหนอ” ลักษณะของการยกส้นไม่ควรยกสูงจนเลยข้อเท้าขึ้นไป จากนั้นตามดูอาการเคลื่อนไหวของการยกเท้ากำหนดว่า “ยกหนอ” ลักษณะของการยกเท้าให้กระดกปลายเท้าขึ้นอย่างช้าๆ จากนั้นให้เคลื่อนเท้าไปข้างหน้าอย่างช้าๆ กำหนดว่า “ย่างหนอ” จากนั้นวางเท้าลงสติจดจ่อที่อาการเคลื่อนไหวขณะที่เท้าแนบชิดกับพื้นและสิ้นสุดลง กำหนดว่า “เหยียบหนอ” 

 

 

วิธีเดินจงกรมระยะที่ ๕ 

คำบริกรรม :ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ

 

วิธีปฏิบัติ เมื่อนักปฏิบัติกำหนดรู้อาการยืนและต้นจิต ๓ ครั้งแล้ว จากนั้นกำหนดรู้อาการยกขึ้นของส้นเท้า เข่าจะงอนิดหน่อย โดยตั้งใจเอาสติกำหนดรู้ที่อาการยกส้นว่า “ยกส้นหนอ” พยายามกำหนดให้ทันกับอาการเคลื่อนไหว อย่าให้ก่อนหรือหลัง จากนั้นค่อยๆ กระดกปลายเท้าขึ้นอย่างช้าๆ กำหนดอาการเคลื่อนไหวนั้นว่า “ยกหนอ” เมื่อการยกสิ้นสุดลง ให้เคลื่อนเท้าไปข้างหน้าจิตจดจ่อที่อาการเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างเชื่องช้านั้นกำหนดว่า “ย่างหนอ” เสร็จแล้วค่อยๆปล่อยเท้าลงไปเล็กน้อยแต่ยังไม่ถูกพื้น โดยเท้าจะขนานกับพื้นในขณะที่เท้าเคลื่อนที่ลงไปกำหนดว่า “ลงหนอ” จากนั้นวางเท้าแนบกับพื้นพร้อมกับกำหนดว่า “ ถูกหนอ” ให้พอดีกันไม่ให้ถูกก่อนหรือหลังเพราะจะไม่ได้สมาธิหรือ ทันปัจจุบัน

 

 

วิธีเดินจงกรมระยะที่ ๖ 

( ยกส้นหนอ ยกหนอ ย่างหนอ ลงหนอ ถูกหนอ กดหนอ )

 

เมื่อกำหนดรู้อาการยืนและต้นจิตเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นักปฏิบัติก็ตั้งใจจดจ่อที่อาการยกส้นขึ้นอย่างช้าๆ พร้อมกับกำหนดว่า “ยกส้นหนอ” จากนั้นกำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวของปลายเท้าที่ขึ้นอย่างช้าๆ กำหนดว่า “ยกหนอ” เมื่อเคลื่อนเท้าไปข้างหน้ากำหนดว่า “ย่างหนอ” ต่อจากนั้นกำหนดรู้อาการปล่อยเท้าลงอย่างช้าๆ กำหนดว่า “ลงหนอ” หยุดนิดหนึ่งเท้าจะขนานกับพื้นแต่ยังไม่ถูกพื้น จากนั้นให้กำหนดรู้อาการเคลื่อนไหวของปลายเท้าที่ค่อยๆ เคลื่อนลงไปจนกระทั่งถูกพื้น แต่ส้นเท้ายังไม่ถูกพื้นกำหนดว่า “ถูกหนอ” ต่อไปก็ให้เอาสติไปจนจ่อที่อาการเคลื่อนไหวของส้นเท้าที่ค่อยปล่อยลงไปอย่างเชื่องช้า จนกระทั่งถึงพื้นพร้อมกับกำหนดว่า “กดหนอ” หรือจะปล่อยเท้าลงอย่างช้าๆ จนถูกพื้น โดยกำหนดว่า “ถูกหนอ” ขณะทีกดเท้าลงไปที่พื้นให้กำหนดอาการกดพร้อมกับบริกรรมว่า “กดหนอ” ดังนี้