อานิสงส์การปฏิบัติ

ประโยชน์ของการกำหนด 

๑. จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ ( ขณิกสมาธิ ) 

๒. เกิดสติสัมปชัญญะละอัตตาตัวตน 

๓. สั่งสมเหตุปัจจัย เพื่อเว้นไกลจากกิเลส 

๔. รู้ถ้วนทั่วอย่างวิเศษ ในปัจจุบันขณะ 

๕. ละความเกียจคร้าน สะสมญาณหยั่งรู้ 

๖. กอบกู้อิสรภาพกำหราบกิเลส 

 

ประโยชน์ของการนั่ง กำหนด ( สมาธิ ) 

๑. จิตตั้งมั่น และเป็นสมาธิได้ง่าย 

๒. สภาวธรรมปรากฏค่อนข้างชัดเจน 

๓. อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดเจน 

๔. เป็นอิริยาบถที่อื้อต่อการบรรลุ มรรค ผล นิพพานได้มากกว่าอิริยาบถอื่น ๆ 

๕. เป็นอิริยาบถที่รวมความพร้อม เพื่อการบรรลุธรรมในขั้นต่าง ๆ กระทั่งสูงสุด 

 

ประโยชน์ของการยืนกำหนด 

๑. ทำให้การกำหนดเกิดความต่อเนื่องกัน

๒. จิตเป็นสมาธิได้ค่อนข้างง่าย 

๓. ทุกขเวทนามีน้อย ใช้พื้นที่น้อยในการกำหนด 

๔. ทำลายบัญญัติของรูปยืน เป็นสภาพรู้อาการ 

๕. ทำให้เข้าใจสภาพของเหตุปัจจัย อันอิงอาศัยกันและกันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป 

 

ประโยชน์ของการเดินจงกรม ๕ ประการ 

๑. อดทนต่อการเดินทางไกล 

๒. อดทนต่อการกระทำความเพียร 

๓. ช่วยย่อยอาหาร 

๔. ช่วยขับลมออกจากตน 

๕. ทำสมาธิให้ดียิ่งขึ้น 

 

ประโยชน์ของการกำหนดอิริยาบถย่อย 

๑. ปิดช่องว่างการกำหนด ในอิริยาบถอื่น ๆ 

๒. ทำให้การกำหนดมีความต่อเนื่องไม่ขาดสาย 

๓. วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เกื้อกูลกันค่อนข้างมาก 

๔. ส่งเสริมให้อินทรีย์ ๕ เท่ากัน ( สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา ) 

๕. มีความรอบคอบ ไม่หลงลืม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในด้านอื่น ๆ ด้วย 

 

ประโยชน์ของการนอนกำหนด 

๑. ช่วยให้หลับง่าย เพราะไม่กังวล 

๒. จิตเป็นสมาธิได้ง่าย 

๓. เป็นการพักผ่อน และเป็นการเชื่อมโยงอิริยาบถอื่น ๆให้สม่ำเสมอ 

 

ข้อที่ควรระวัง 

- ถีนมิทธะ ความง่วงเหงา หาวนอน เซื่องซึม เกิดขึ้นได้ง่าย 

- ไม่ควรนอนมากเกินไปสำหรับผู้มุ่งปฏิบัติจริง ๆ อย่างมากไม่ควรเกิน ๖ ชั่วโมง 

- ความเกียจคร้านเกิดขึ้นได้ง่าย อย่าเห็นแก่นอนเกินไป 

- นักปฏิบัติที่มุ่งความสุขสงบในชีวิตต้องการหลับพักผ่อน ไม่ต้องตั้งใจกำหนดมาก 

 

อานิสงส์การปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน ๔ 

๑. ทำให้สุขภาพทางร่างกาย และจิตใจดีขึ้น 

๒. ทำให้จิตใจเบิกบาน เอิบอิ่ม แช่มชื่น 

๓. ความวิตกกังวล และความเครียดลดลงอย่างมาก 

๔. เป็นผู้มีสติรู้เท่าทัน มีความผิดพลาดน้อย 

๕. มีประสิทธิภาพในการทำหน้าที่ต่าง ๆ ดีขึ้น 

๖. ไม่ตกใจกลัว เพราะเจริญสติสัมปชัญญะอยู่เสมอ 

๗. มีความกล้าหาญ ในการกระทำคุณงามความดีอย่างสม่ำเสมอไม่ท้อถอยเบือหน่าย 

๘. ความยึดมั่นถือมั่นลดลง เพราะเข้าใจในสภาพที่แท้จริงของชีวิต ( ขันธ์ ๕ ) 

๙. สามารถทำลายความโลภ ( อภิชฌา ) ความโกรธ ( โทมนัส ) ให้ลดลงหรือหมดไปได้ 

๑๐. ชื่อว่าเป็นเตรียมความพร้อม และได้สะสมเหตุปัจจัย เพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจ ๔ อันจะนำไปสู่การบรรลุ มรรค ผล นิพพาน ซึ่งเป็นที่สิ้นไปแห่งกิเลส ( ความยึดมั่นถือมั่นด้วยโมหะ) และกองทุกข์ทั้งมวล ได้ในปัจจุบันชาตินี้ หรือถ้าผู้ปฏิบัติกระทำอย่างต่อเนื่อง จะไม่เกิน ๗ ปี เป็นอย่างช้าควรจะได้บรรลุ อริยมรรค อริยผลอย่างใดอย่างหนึ่งแน่นอน ดังพระพุทธพจน์ที่ปรากฏอยู่ในท้ายสติปัฏฐานสูตร คัมภีร์มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ( ๑๒/๑๐๓ -๑๒๗ )มีเนื้อความโดยสังเขป ดังนี้ 

 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๗ ปีจงยกไว้ ก็ผู้ใดผู้หนึ่ง พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ดังกล่าวมานั้น ตลอด ๖ ปี ผู้นั้นพึงหวังได้ซึ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ อย่าง คือ บรรลุพระอรหันต์ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ ก็บรรลุความเป็นอนาคามี ในชาติปัจจุบันนี้แล 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๖ ปีจงยกไว้ ก็ผู้หนึ่งผู้ใด พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ดังกล่าวมานั้น ตลอด ๕ ปี ผู้นั้นพึงหวังได้ซึ่งผล อย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ อย่างคือ บรรลุพระอรหันต์ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ ก็บรรลุความเป็นอนาคามี ในปัจจุบันชาตินี้แล 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ๕ ปี จงยกไว้... ๔ ปี... ๓ ปี... ๒ ปี... ๑ ปี... ๗ เดือน... ๖ เดือน... ๕ เดือน... ๔ เดือน... ๓ เดือน... ๒ เดือน... ๑ เดือน... จงยกไว้ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ครึ่งเดือน จงยกไว้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ผู้หนึ่งผู้ใด พึงเจริญสติปัฏฐาน ๔ เหล่านี้ ดังกล่าวมานั้น ตลอด ๗ วัน ผู้นั้นพึงหวังได้ ซึ่งผลอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๒ อย่าง คือ บรรลุพระอรหันต์ หรือเมื่อยังมีอุปาทิเหลืออยู่ ก็บรรลุเป็นพระอนาคามี ในชาติปัจจุบันนี้แล 

เพราะอาศัยคำกล่าวนี้ ตถาตคจึงกล่าวคำ ซึ่งได้กล่าวมาแล้ว (ข้างต้น) นั้นว่า 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อระงับความโศก และความคร่ำครวญ เพื่อดับทุกข์และโทมนัส เพื่อบรรลุอริยมรรค เพื่อแจ้งพระนิพพาน ทางเดียวนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ ด้วยประการฉะนี้แลฯ 

 

เท่าที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ชี้ให้เห็นว่าการเจริญวิปัสสนากรรมฐานเป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก ทุกคนสามารถกระทำได้ในชีวิตประจำวัน ของแต่ละคนเพียงแต่ให้เรามี สติ สัมปชัญญะ สังเกตอากัปกริยาหรือการเคลื่อนไหวต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าท่านจะกำลังกระทำอะไรอยู่ก็ตาม ถ้าเป็นคนชั่งสังเกตสติปัญญาก็จะเกิดขึ้นตลอดเวลา กิเลสตัณหาจะไม่สามารถเข้ามาบงการชีวิตท่าน ให้เป็นไปตามอำนาจของมันได้ ขณะที่ท่านกำหนดอยู่ กุศล (ความดีงาม) ก็เกิดขึ้นในจิตใจอย่างสม่ำเสมอ ความชั่วหรือบาปก็หลีกไป ถ้าหมั่นกำหนดอยู่เสมอๆ เท่ากับว่าเราได้พัฒนาความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป และยังได้ชื่อว่ารักษาความดีเอาไว้ด้วย 

 

สำหรับผู้ปฏิบัติที่มีเวลามาก และสามารถทุ่มเทให้กับปฏิบัติอย่างจริงจัง ขอแนะนำให้เลือกครูบาอาจารย์ ที่ทรงความรู้และประสบการณ์ในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ที่เคยเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน อย่างจริงจังและต่อเนื่องอย่างน้อย ๑ ปี รวมทั้งเป็นผู้สามารถให้คำปรึกษา และแก้อารมณ์กรรมฐานให้แก่ผู้ปฏิบัติได้ไม่หลงทาง หรือยึดติดในสภาพของอัตตา เลือกสถานที่หรือสำนักปฏิบัติที่เป็นสัปปายะ (สงัดเงียบ ปราศจากเสียงรบกวนอยู่ตลอดเวลา การคมนาคมสะดวก อาหาร และอาคารสถานที่มีความเกื้อกูลแก่ผู้ปฏิบัติตามสมควรแก่อัตภาพ) เมื่อท่านเลือกครูบาอาจารย์ (กัลยาณมิตร) และสถานที่อันเหมาะสมแล้ว ควรทุ่มเทกายใจมุ่งสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่ใช่ทำเล่นๆ เพื่อกลบเกลื่อนความทุกข์ (ปัญหา) ไปวันหนึ่งๆ เท่านั้น ควรทำอย่างตั้งใจ ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติจะเป็นบทพิสูจน์เองว่า ความจริงของโลกและชีวิตคืออะไร มรรค ผล นิพพานมีจริงไหม ความดับไม่เหลือแห่งกิเลสและกองทุกข์เป็นเช่นใด เมื่อท่านปฏิบัติอย่างจริงจัง ท่านจะพบความจริงเช่นที่ว่านั้น โดยไม่ต้องเสียเวลาไปถามใคร คำตอบอยู่ที่การปฏิบัติของท่านเอง ถ้าแน่ใจ และเชื่อมั่นในความสามารถที่มีอยู่ จงลงมือปฏิบัติดูเถิด.